เวลาเราไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าที่ต่างจังหวัดก็มักจะได้เห็นสิ่งปลูกสร้างจากยุคสมัยเก่าก่อนรุ่นปู่ย่าที่ถูกดัดแปลงให้ดูร่วมสมัยขึ้น บ้างก็ยังคงโครงสร้างและรูปลักษณ์เดิมไว้แต่ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ พูดให้เห็นภาพก็คงเป็นบ้านใต้ถุนสูงที่ด้านล่างผูกเปลไว้นอนเล่นหรือมีลานอเนกประสงค์กับห้องน้ำที่สร้างไว้แยกจากตัวบ้าน เป็นต้น วันนี้ยิ้มสู้ไอเดียจะพาเพื่อน ๆ ไปชมโรงนาเก่าที่ถูกแอบรีโนเวทให้ไฉไลกว่าเก่า ถามว่าทำไมใช้คำว่าแอบน่ะเหรอ? ก็เพราะว่าภายนอกนั้นยังคงเหมือนกับโรงนาหลังเดิมเป๊ะ ๆ แต่ภายในนั้นเปลี่ยนเป็นโถงอเนกประสงค์สไตล์ร่วมสมัยที่พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกแถมน่าอยู่มาก ๆ แล้วน่ะสิ!
โรงนาเก่าอายุหลายปีภายนอกดูทรุดโทรม ถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นที่พักอาศัยที่สวยงามร่วมสมัย ภายนอกนั้นยังคงเป็นโครงสร้างไม้เก่าเช่นเดิมกับหลังคาทรงจั่วที่เหมาะสำหรับทุกสภาพอากาศ บริเวณรอบ ๆ คือฟาร์มที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาและบรรยากาศสดชื่นมีกลิ่นอายของความคลาสสิคในแบบฉบับของบ้านชานเมือง
โรงนาแห่งนี้ภายในถูกแบ่งสรรเป็นสองชั้น โดยชั้นบนนั้นจัดวางโซฟาหนังพร้อมหมอนอิงสีสันสดใสไว้นั่งพักผ่อนคลาย อีกมุมหนึ่งจัดวางเครื่องดนตรีไว้เพื่อบรรเลงในเวลาว่างให้สมาชิกภายในบ้านได้เพลิดเพลินไปกับงานอดิเรกของตนเอง นอกจากนี้ผนังของมุมนี้ยังเป็นกระจกใสที่ทำให้เห็นวิวภายนอกและช่วยให้แสงแดดสาดส่องเข้ามาได้ทั่วห้องทำให้มุมพักผ่อนนี้ดูสว่างไสวมีบรรยากาศที่ผ่อนคลายอบอุ่น
ส่วนชั้นล่างนั้นมีมุมครัวที่จัดวางเคาน์เตอร์ครัวสีขาวพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันไม่ว่าจะเป็นเตาไฟฟ้า เครื่องชงกาแฟ ซิงค์ล้างจาน กาน้ำร้อนและเตาอบเรียกได้ว่าดูล้ำสมัยไปเลยเมื่อเทียบกับรูปลักษณ์ภายนอกของโรงนาแห่งนี้ ที่บริเวณชั้นหนึ่งนี้ยังจัดวางชุดโต๊ะเก้าอี้ซึ่งทำมาจากไม้เข้ากับบรรยากาศของโรงนาไม้แห่งนี้เพื่อใช้สำหรับนั่งหย่อนใจและใช้เป็นโต๊ะรับประทานอาหารไปในตัว เพดานนั้นทำจากไม้สีน้ำตาลอ่อนเมื่อต้องแสงไฟให้บรรยากาศอบอุ่นอ่อนโยน ผนังของห้องในชั้นนี้ก็เป็นผนังกระจกใสที่ด้านหนึ่งใช้กั้นส่วนภายในของโรงนาเอาไว้และผนังกระจกใสอีกด้านมีประตูที่สามารถเปิดออกไปด้านนอกได้ช่วยให้แสงแดดธรรมชาติสามารถสาดส่องเข้ามาภายในได้ ทำให้บรรยากาศโดยรวมนั้นปลอดโปร่งไม่ทึบทึม
เรียกได้ว่าเป็นไอเดียที่บรรเจิดและเก๋ไก๋สุด ๆ ไปเลยนะคะ ไหนมีใครอยากเอาไอเดียนี้ไปดัดแปลงกับโรงเก็บของที่บ้านกันบ้างคะ?
ขอบคุณภาพจาก www.archdaily.com
เนื้อหา © Yimsu Idea